Buzzing หรือ “การเป่าปากเปล่า” คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการเล่นเครื่องเป่าทองเหลืองนอกเหนือจากการฝึกลมและการฝึกปฏิบัติเครื่องดนตรี เนื่องจากแท้จริงแล้วในการให้กำเนิดเสียงของเครื่องเป่าทองเหลืองนั้น เสียงเกิดจากการสั้นสะเทือนของริมฝีปากที่เกิดจากการเป่าลมโดยมีปากเป่า (Mouthpiece) และเครื่องดนตรีทำหน้าที่เป็นเครื่องขยายเสียงให้มีความแม่นยำและมีความดังมากขึ้น ตามหลักสำหรับนักเล่นเครื่องลมทองเหลืองระดับเบื้องต้น ที่เริ่มมีความสามารถในการบรรเลงขั้นพื้นฐาน การทำ “Buzzing” สามารถถูกนำมาใช้เป็นแบบฝึกหัด เพื่อช่วยในการพัฒนาการเล่นได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น การเป่าปากเปล่าด้วยการเล่นบันไดเสียงหรือด้วยแบบฝึกหัด Vocalise นั้น สามารถที่จะช่วยพัฒนาความสามารถในการจับเสียงและสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อปากได้ เนื่องจากในการเป่าปากเปล่านั้น เป็นการบังคับให้กล้ามเนื้อปากทำหน้าที่มากกว่าการใช้ลมสำหรับการบรรเลงเครื่องดนตรี ประกอบกับผู้บรรเลงต้องใช้ความตั้งใจและความสามารถในการฟังและจับระดับเสียง (Pitch) ของโน้ตมากกว่าการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอีกด้วย และจะส่งผลให้เมื่อกลับไปบรรเลงแบบฝึกหัดข้อนั้น ๆ กับเครื่องดนตรีตามปรกติ จะพบว่าการบรรเลงสามารถทำได้สะดวกและผู้บรรเลงจะรู้สึกคุ้นชิน พร้อมกับรู้สึกสบายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการเป่าปากเปล่านั้นเป็นการขยายขีดความสามารถในการเล่นของผู้เล่นให้มากยิ่งขึ้น
วิธีการเริ่มฝึกหัดการเป่าปากเปล่า มีมากมายหลายวิธี แต่ในที่นี้ขอยกมา 2 วิธี ดังนี้
- เริ่มต้นให้ผู้ฝึกนึกถึงและพูดคำว่า “M” โดยปิดปากทั้งหมด โดยห้ามไม่ให้มีรูที่จะให้ลมออกมาได้ หลังจากนั้นค่อย ๆ พยายามเป่าลมออกมา ในขณะที่ปากยังคงปิดอยู่ ซึ่งขณะปฏิบัติจะสามารถรู้สึกได้ถึงการเกรงและแรงดันที่เกิดจากการเป่าลม โดยกล้ามเนื้อปากและมุมปากจะทำหน้าที่ต้านแรงไม่ให้ลมพุงออกมา หลังจากนั้นค่อย ๆ เปิดรูปากตรงกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดเสียง “Buzz” ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของลมผ่านริมฝีปาก ซึ่งเราเรียกว่า “Buzzing” นั่นเอง
- ใช้ดินสอไม้ขนาดปรกติทั่วไป เริ่มต้นโดยให้ผู้ฝึกคาบดินสอไว้ที่ปากโดยปราศจากการช่วยของฟัน ซึ่งรูปปากควรจะอยู่ในลักษณะคล้ายตอนพูดคำว่า “M” หลังจากนั้นค่อย ๆ เป่าลมออกมาในขณะที่ยังคาบดินสออยู่ แล้วค่อย ๆ ดึงดินสอที่คาบอยู่ออก จนเกิดรูขึ้นคล้ายกับการฝึกในข้อที่ 1 ซึ่งจะพบว่า เกิดเสียงในลักษณะเดียวกับข้อที่ 1
ข้อควรระวังของการฝึกเป่าปากเปล่าคือ ไม่ควรหักโหมฝึกปฏิบัติหรือทำการฝึกซ้อมในระยะเวลานานติด ๆ กัน เนื่องจากการฝึกจะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อปาก หรืออาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไปคล้ายกับการสร้างกล้ามเนื้อของนักกีฬาที่ต้องใช้ระยะเวลาและใช้วินัยความอดทนในการฝึกฝน